วันพฤหัสบดีที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ท่องเที่ยวเมืองเพชร



"เขาวังคู่บ้าน ขนมหวานเมืองพระ เลิศล้ำศิลปะ แดนธรรมะ ทะเลงาม "



เพชรบุรี เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่ นับเนื่องไปได้เป็นพันปี จากหลักฐานทางโบราณคดี ที่บ่งว่าเคยมีคนอาศัยอยู่ เป็นชุมชนถาวรนั้น มีอายุย้อนไปถึงยุคทวารวดีเลยทีเดียว
ในยุคที่ขอมเรืองอำนาจ อยู่ในดินแดนบางส่วนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบันนี้ คือ ในราว 800 ปีมาแล้วนั้น มีจารึกพระขรรค์ ที่กล่าวถึงเมืองเมืองหนึ่ง ที่ชื่อว่า ศรีวิชัยวัชรปุระ เมืองนี้ นักวิชาการหลายท่านเชื่อว่า หมายถึงเมืองเพชรบุรี ด้วยเหตุที่คำว่า วัชรปุระ นั้น เมื่อแผลงอักษร ว เป็น พ ก็จะได้เป็นพัชร หรือ เพชร และ ปุระกับบุรี ก็มีความหมายเหมือนกัน ดังนั้น วัชรปุระ กับ เพชรบุรี ก็คือ คำคำเดียวกันนั่นเอง
ชื่อเมืองเพชรบุรีนี้ จะมีที่มาจากอะไรหรือ มีความหมายเกี่ยวเนื่องมาจากสิ่งใดไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่ชื่อ เพชรบุรี นั้น ก็ปรากฎหลักฐาน เป็นลายลักษณ์อักษรว่ามีใช้ในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกันกับชื่อ วัชรปุระ โดยมีกล่าวถึงในจารึกสมัยสุโขทัย อายุกว่า 700 ปีมาแล้ว เป็นเรื่องราวการเดินทางของเชื้อพระวงศ์กษัตริย์สุโขทัยพระองค์หนึ่ง จากศรีลังกา กลับมายังสุโขทัย ในจารึกกล่าวว่า เมื่อขึ้นบกที่เมืองตะนาวศรีแล้ว ท่านได้เดินทางผ่านเพชรบุรี ราชบุรี และอยุธยา เพื่อจะกลับไปยังสุโขทัย
ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา เพชรบุรี มีความเกี่ยวข้องกับตำนานของปฐมกษัตริย์แห่งอยุธยาว่า พระเจ้าอู่ทองนั้น เคยครองเมืองเพชรบุรีมาก่อน แต่ข้อเท็จจริงประการหนึ่งในประวัติศาสตร์ ก็คือ ตลอดสมัยอาณาจักรอยุธยา ซึ่งมีศึกสงครามรบพุ่ง กับรัฐหรือ อาณาจักรใกล้เคียงอยู่แทบจะไม่ว่างเว้นนั้น เพชรบุรี เป็นหัวเมืองสำคัญอย่างยิ่งในสองสถานะ สถานะแรกคือ เป็นแหล่งสะสมเสบียงอาหาร เนื่องจากสภาพภูมิประเทศของเพชรบุรี มีพื้นที่ราบลุ่ม ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูก ทำนา ที่อุดมสมบูรณ์ยิ่ง สถานะที่สอง คือ เป็นเมืองที่มีชัยภูมิดี ทั้งทางบกและทางทะเล ในยามศึก เพชรบุรี เป็นเมืองหน้าด่านทางใต้ ที่สำคัญของอาณาจักรอยุธยา เมื่อพม่ายกทัพมาทางบก โดยใช้เส้นทางช่องสิงขรด้านใต้ ในยามสงบ เพชรบุรี มีฐานะเป็นเมืองหน้าด่าน ที่ช่วยดูแลหัวเมืองปักษ์ใต้ชายทะเล
เพชรบุรี คงดำรงสถานะหัวเมืองสำคัญเช่นนี้ สืบมาจนล่วงเข้าสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ อังกฤษ เข้ายึดครองพม่า ทำให้การสงครามระหว่างพม่า กับไทย ยุติลงอย่างสิ้นเชิง บทบาทหัวเมืองหน้าด่านของ เพชรบุรี จึงเปลี่ยนแปลงไปนับแต่นั้นมา
ในสมัยต่อมา เพชรบุรี ยังคงมีชื่อปรากฎเกี่ยวข้องอยู่กับประวัติศาสตร์ไทยอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวเนื่องด้วย พระมหากษัตริย์ แต่ความสำคัญของเมืองเพชร กลับกลายจากเมืองทางยุทธศาสตร์ มาเป็นเมืองที่ประทับ ในการเสด็จแปรพระราชฐาน ของพระมหากษัตริย์ ถึงสามรัชกาลติดต่อกัน คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ร่องรอยที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม ที่ยังคงเหลืออยู่ ได้แก่ ความทรงจำที่เล่าขานกันสืบมา อย่างภาคภูมิใจ ในหมู่ชาวเมืองเพชร และพระราชวังสำคัญสามแห่ง คือ พระนครคีรี พระรามราชนิเวศน์ และพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ที่ยังคงอยู่คู่เมืองเพชรบุรีสืบมาhttp://www.tourthai.com/province/petburi/index.php